โรงเรียน : ค่ายบกหวานวิทยา สพม.หนองคาย
ระดับ : ระดับเขตพื้นที่ฯ
กลุ่มสาระฯ : การงานฯ
เผยแพร่เมื่อ : 8 ก.ค. 2559 โดย : รัชศักดิ์ ปรีดาวัฒนศักดิ์ จำนวนผู้เข้าชม 2613 คน
“๑ โรงเรียน ๑ อาชีพ ๑ ผลิตภัณฑ์”
การเรียนรู้สู่อาชีพ “งานจักสานไม้ไผ่”
โดย ชุมนุมจักสานโรงเรียนค่ายบกหวานวิทยา
๑. ความเป็นมา และความสำคัญ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดสาระสำคัญในการจัดการศึกษาไว้ในแต่ละมาตราอย่างชัดเจน อาทิ มาตรา ๗ ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากลตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเองมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ประการสำคัญในมาตรา ๒๔ การจัดกระบวนการเรียนรู้ สถานศึกษาต้องดำเนินการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจและความสามารถของผู้เรียน จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ ฝึกปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้ ตลอดจนการใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และหมวด 4 ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด การจัดการเรียนการสอนต้องมีการปรับแนวการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและครอบครัว การอาชีพ การออกแบบเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ ์ใช้ในการทำงาน มีทักษะกระบวนการในการทำงานและการจัดการ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาในการทำงาน ขยัน อดทน ประหยัด รักการทำงาน ตลอดจนมีความสามารถในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีจิตสำนึก
ปี ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ กำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไว้ ๔ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑) พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกระดับ ทุกประเภท
๒) ขยายโอกาสเข้าถึงบริการการศึกษา ที่มีคุณภาพและเสมอภาค ๓) พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ๔) พัฒนาระบบการสนับสนุนการจัดการศึกษาโครงการการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะวิชาชีพ
จากภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนทั่วไปหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น อาชีพที่เป็นที่นิยมกันมาก คืออาชีพค้าขายทั้งอุปโภคและบริโภค และจากรายงานประจำปีของสถานศึกษา (SAR) ปีการศึกษา ๒๕๕๗ พบว่าโรงเรียนยังมีจุดที่ควรพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีความรู้ความสามารถในการเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ประกอบกับชุมชนของตำบลค่ายบกหวาน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก และค้าขายเป็นบางครอบครัว พอหมดฤดูการทำนา พ่อบ้านก็จะเดินทางไปค้าขายสินค้าทั่วไป ส่วนแม่บ้านก็จะรวมกลุ่มจักสาน เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง จนปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์จักสานของตำบลค่ายบกหวานได้กลายเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของหนองคาย โรงเรียนจึงเห็นความสำคัญของงานอาชีพ และเพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้กับนักเรียน ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สู่งานอาชีพงานจักสานเชิงธุรกิจ ซึ่งอยู่ในกลุ่มประสบการณ์ หรือสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
๒. วัตถุประสงค์ / เป้าหมาย
๑. เพื่อให้นักเรียนได้รู้วิธีการสานมวยนึ่งข้าว กระติบใส่ข้าวด้วยไม้ไผ่
๒. เพื่อจะได้ฝึกทำการมวยนึ่งข้าว กระติบใส่ข้าวด้วยไม้ไผ่
๓. เพื่อศึกษาการนำไม้ไผ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์
๔. เพื่อศึกษาการขึ้นลายของมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว
๕. เพื่อใช้เวลาว่างใช้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนจากการขายผลิตภัณฑ์ได้
๓. กระบวนการ / ขั้นตอน
ขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนา
๓.๑. จัดตั้งรวบรวมกลุ่มสมาชิก
จัดตั้งกลุ่มสมาชิก โดยโรงเรียนประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความสำคัญ ความต้องการและประโยชน์ที่จะได้รับ แล้วดำเนินการรวบรวมสมาชิก จัดตั้งเป็นชุมนุมจักสานไม้ไผ่ โดยเป็นสมาชิกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖ จำนวน ๑๓ คน ครูที่ปรึกษา จำนวน ๒ คน ครูที่ปรึกษาจัดประชุมชี้แจงแจ้งวัตถุประสงค์ชุมนุม และชี้แจงให้เห็นกระบวนการจักสานไม้ไผ่ เพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน และเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ
๓.๒. การแสวงหาวิธีที่เป็นเลิศ
ดำเนินการแสวงหาวิธีที่เป็นเลิศด้วยเรื่องเล่า ดำเนินการโดยการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มสมาชิก โดยตั้งประเด็น ดังนี้
“จะนำไม้ไผ่มาทำอะไร จึงจะเกิดมูลค่าเพิ่มที่มีคุณค่า”
“จะผลิตสิ่งใดจึงจะตรงตามความต้องการของผู้บริโภค”
“จะผลิตอย่างไร ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว”
“จะศึกษาดูงานที่ใด ใครจะเป็นวิทยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่น”
เมื่อประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว บันทึกการปฏิบัติที่ดี จัดทำเป็นแนวทางและจัดทำความรู้เกี่ยวกับวิธีการจักสานไม้ไผ่ สู่งานอาชีพ ต่อไป
๓.๓. การศึกษาดูงานวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
โรงเรียนดำเนินการโดย นำข้อคิดเห็นจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาเป็นแนวในการปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายในการศึกษาดูงานการสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว ครั้งที่ ๑ ของกลุ่มแม่บ้านจัก-สานบ้านดอนกอก ตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยไปศึกษาดูงานกระบวนการผลิตทั้งหมด และให้สมาชิกร่วมฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างดี ครั้งที่ ๒ ไปศึกษาดูงานงานจักสานของนายภักดี ทัดเทียม บ้านดอนกอก ตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เกี่ยวกับการจักสานไม้ไผ่ขึ้นรูปเป็นกระติบใส่ข้าวชนิดต่างๆ
๓.๔. การเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติ (Benmarking)
โรงเรียนจัดประชุมเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติ ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้ง ๒ แห่ง ที่ได้ศึกษาดูงาน เพื่อเทียบคุณภาพการผลิต เทียบรูปแบบการขึ้นรูปวัสดุที่ใช้ เพื่อคัดสรรและเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เป็นที่นิยมที่สุด มีประโยชน์มากที่สุด โดยมีโจทย์คือ ต้องใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุผลิต ที่ประชุมเลือกการทำมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว การดำเนินงานนั้นสมาชิกดำเนินด้วยเครื่องมือการจัดการความรู้ รูปแบบต่างๆ ได้แก่
(ทีมเรียนรู้) และอีกฝ่ายหนึ่ง(ทีมเพื่อน) โดยทีมเรียนรู้เป็นทีมที่มีปัญหาในระหว่างดำเนินการจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติ๊บข้าว สู่อาชีพ ทีมเรียนรู้ จึงเชิญทีมเพื่อนที่มีประสบการณ์ในการสานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติ๊บข้าว มาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ เพื่อทีมเรียนรู้จะได้เรียนรู้ความรู้และประสบการณ์จากทีมเพื่อน ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานที่ประสบปัญหาอยู่ สำเร็จตามเป้าหมาย
๒) ร่วมคิดพาทำ (Coaching) เป็นวิธีการสอนงานการจักสานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติ๊บข้าว โดยผู้สอนงาน ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ในกลุ่มสมาชิกสอนวิธีการจักสานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติ๊บข้าว แบบร่วมคิดพาทำ จนงานสำเร็จ
๓) ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) เป็นเครือข่ายของบุคคลที่เข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้ด้วยความเต็มใจที่จะทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ผู้ปกครองและชุมชน ตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมือง เข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว สู่อาชีพ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังรางวัลหรือผลตอบแทน
๔) การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) เพื่อดำเนินการสร้างผลิตภัณฑ์จักสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าวสู่อาชีพ ซึ่งสมาชิกร่วมกันผลิตและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยมีครูและวิทยากรภายนอก ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นพี่เลี้ยงในขณะดำเนินการ
๓.๕. การประเมินทันทีเพื่อเติมต่อ
ประเมินผลทันทีหลังงานสานเสร็จในแต่ละใบ หากประเมินผลิตภัณฑ์งานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว ผ่าน สามารถนำไปจำหน่ายได้ หากผลิตภัณฑ์ใบใดประเมินแล้วยังต้องปรับปรุงแก้ไข ก็ให้ย้อนกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ แสวงหาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือเทียบเคียงผลิตภัณฑ์งานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าวใหม่ หากผลงานมีคุณภาพผ่านการประเมินสามารถนำออกจำหน่าย หรือนำออกแสดงนิทรรศการได้
๔. ผลการดำเนินงานและประโยชน์ที่ได้รับ
๔.๑ ผลที่เกิดกับผู้เรียน
๔.๑.๑ นักเรียนมีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เช่น ช่วยสอนผู้อื่น เพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง (การสานสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าว)
๔.๑.๒ นักเรียนมีวินัยในตนเอง โดยทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม
๔.๑.๓ นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งในเวลาเรียน และนอกเวลาเรียน
๔.๑.๔ นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ลดภาระของผู้ปกครอง
๔.๑.๕ นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพต่อไป
๔.๑.๖ ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ตลอดชีวิต
๔.๒ ผลที่เกิดขึ้นกับครูผู้สอน
๔.๒.๑ ครูมีเทคนิคในการสอนจักสานจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติ๊บข้าว รูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ตรงตามความแตกต่างระหว่างผู้เรียน
๔.๒.๒ ครูมีความภาคภูมิใจ ที่นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๔.๒.๓ ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice)
๔.๒.๔ เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครู
๔.๓ ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน
๔.๓.๑ เป็นสถานศึกษาแบบอย่างในการฝึกอาชีพให้กับนักเรียน
๔.๓.๒ สถานศึกษาได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่น
๔.๓.๓ สถานศึกษามีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งผลิตภัณฑ์”
๔.๓.๔ สถานศึกษามีหลักสูตรท้องถิ่น “งานจักสานไม้ไผ่สู่อาชีพ”
๔.๓.๕ เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กรในสถานศึกษา
๔.๓.๖ สถานศึกษาเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของชุมชน
๔.๓.๗ สถานศึกษาได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง จากการประกวดแข่งขันงานจักสาน
ไม้ไผ่ จากงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับภาคทุกปี
๔.๔ ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน
๔.๔.๑ คนในชุมชนรู้จักการทำจักสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าวจากไม้ไผ่
เป็นอาชีพเสริม
๔.๔.๒ คนในชุมชนนิยมผลิตภัณฑ์งานสานจากไม้ไผ่มากขึ้น
๔.๔.๔ คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการสานมวยนึ่งข้าว และกระติบใส่ข้าวรูปแบบต่างๆ
๔.๔.๕ เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
๕. ปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการตามขั้นตอนของระบบเรียนรู้ ได้แก่ ครูผู้สอนซึงมีความตระหนักเห็นความสำคัญและมีความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนอกจากนั้นยังมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ประสบผลสำเร็จ ได้แก่
ผู้บริหาร ซึ่งให้ความสำคัญ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการและส่งเสริมทักษะทางด้านอาชีพ เป็นอย่างดียิ่ง มีการกำหนดนโยบายให้มีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการไว้ได้อย่างชัดเจน และจัดกิจกรรมส่งเสริมในการพัฒนาครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
บุคลากรของโรงเรียน มีการร่วมกันคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนางานและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทำให้การทำงานนั้นเป็นไปตามระบบ
ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานภายนอก ได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือโรงเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร บุคลากรที่มีความชาญ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มีเกิดขึ้นในชุมชน และการระดมทรัพยากรในการจัดการศึกษา ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเผยแพร่วัฒนธรรมในตำบลค่ายบกหวาน
๗. การเผยแพร่/การได้รับการยอบรับ/รางวัลที่ได้รับ
๗.๑ รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันจักสานไม้ไผ่ ระดับชั้น ม.๔ - ๖ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๖๕ ณ จังหวัดสุรินทร์
๗.๒ รางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันจักสานไม้ไผ่ ระดับชั้น ม.๑ – ๓ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๖๕ ณ จังหวัดสุรินทร์
๗.๓ รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับชั้น ม.๑ – ๓ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๖๕ ณ จังหวัดสุรินทร์
๗.๔ รางวัลระดับทอง โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ประจำปี ๒๕๕๘ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย
๗.๕ โรงเรียนดีเด่น ในด้านการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในโครงการพัฒนาศักยภาพยุวทูตความดี “คนดีของประเทศไทย” ประจำปี ๒๕๕๘