โลโก้เว็บไซต์ สารสนเทศสำนักบริหารมัธยมศึกษาตอนปลาย
  PDF

การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามการวิเคราะห์ปัญหาด้วยทฤษฎีระบบ

โรงเรียน : พันท้ายนรสิงห์วิทยา สพม.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

ระดับ : ระดับเขตพื้นที่ฯ

กลุ่มสาระฯ : ภาษาไทย

เผยแพร่เมื่อ : 12 ก.ย. 2561 โดย : นิศามน  อินทรจ้อย จำนวนผู้เข้าชม 376 คน


การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยาในปีการศึกษา ๒๕๕๗ พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ต่ำ กล่าวคือ มีนักเรียนได้ผลการเรียนในระดับ ๓ ขึ้นไปร้อยละ ๑๘.๑๒ อีกทั้งยังมีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)เพียง๓๑.๑๙ คะแนน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับเขตพื้นที่และระดับประเทศ ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะจัดติวก่อนสอบให้นักเรียนตามนโยบายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเขตพื้นที่การศึกษา
          ทั้งนี้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนตกต่ำตามที่กล่าวมาข้างต้นเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุบางประการอาจถูกมองข้ามและละเลยในการแก้ไข ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเพื่อพัฒนาได้ถูกวิธีจึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา โดยอาศัยทฤษฎีระบบเข้ามาวิเคราะห์ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรายวิชาภาษาไทย ตามพื้นฐานของความเป็นจริง
          ทฤษฎีระบบ (System Theory) คือการรวมตัวของสิ่งหลายสิ่งเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยแต่ละสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หรือขึ้นต่อกันและกัน หรือมีผลกระทบต่อกันและกันเพื่อให้เกิดผลอย่างในอย่างหนึ่ง (ศิริพงษ์เศาภายน ๒๕๕๗ : ๑) ทฤษฎีระบบเป็นการมองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆแบบองค์รวม โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันส่วนต่างๆเหล่านั้นสามารถแยกย่อยเป็นระบบเล็กๆได้ และระบบย่อยนี้ต่างมีความสัมพันธ์กันและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของกันและกัน  ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีระบบจึงมีความสำคัญและความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆต้องอาศัยการมองความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยๆ ซึ่งทฤษฎีระบบประกอบด้วย ๑)สิ่งที่ป้อนเข้า (Input) เช่น ครู นักเรียน หลักสูตรวิธีสอน เป็นต้น๒)กระบวนการ (Process) เช่น การพัฒนาความรู้และเทคนิควิธีสอนของครู การสร้างแรงจูงใจในการเรียน เป็นต้น และ ๓) ผลผลิต (Output) คือ นักเรียนที่มีคุณภาพหรือขาดคุณภาพ ซึ่งวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ทั้ง ๓ องค์ประกอบจะสัมพันธ์กัน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมยังมีอิทธิพลต่อระบบ และสิ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบกว่าการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ มีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงคือข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงตัวป้อน (Input) และ กระบวนการ (Process)
          หากนำทฤษฎีระบบมาวิเคราะห์คุณภาพการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ จะพบว่า Output คือ นักเรียนไม่มีคุณภาพ (มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในรายวิชาและผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต่ำ) เราจึงต้องวิเคราะห์ในระบบย้อยกลับว่า การที่ Output ออกมาในลักษณะดังกล่าวเกิดจากกระบวนการ (Process) ใดที่ผิดพลาด เช่น การสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูไม่สร้างแรงจูงใจในการเรียนให้แก่นักเรียน ครูไม่เตรียมสอน เป็นต้น อีกทั้งตัวป้อน (Input) ใดบ้างที่มีปัญหา เช่น นักเรียนน้ำสอง ครูไร้คุณภาพ เป็นต้น ทั้งนี้การวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำจะช่วยในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
          จากการดำเนินการวิเคราะห์ระบบที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำในปีการศึกษา ๒๕๕๗ แล้วนำมาดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรายวิชาภาษาไทยสูงขึ้น โดยมีนักเรียนผลการเรียนดี คือมีเกรดรายวิชาภาษาไทยระดับ ๓ ขึ้นไปร้อยละ ๒๗.๒๕ และคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพิ่มขึ้นเป็น ๓๘.๘๙ คะแนน
 

ออกแบบและพัฒนาโดย สารสนเทศสำนักบริหารการมัธยมศึกษา SESA 2.0