โลโก้เว็บไซต์ สารสนเทศสำนักบริหารมัธยมศึกษาตอนปลาย
  PDF

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงงานฐานวิจัย

โรงเรียน : กระแชงวิทยา สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร

ระดับ : ระดับชาติ

กลุ่มสาระฯ : วิทยาศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ : 16 ม.ค. 2560 โดย :   จำนวนผู้เข้าชม 795 คน


การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เป็นวิธีจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนานักเรียนทั้งด้านความรู้และทักษะผ่านการทำงานที่มีการค้นคว้าและใช้ความรู้ในชีวิตจริง โดยมีผลงานและการแสดงออกถึงศักยภาพจากการเรียนรู้
“ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนทุกคน จึงได้วิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคลและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากที่สุด โดยครูมีบทบาทเป็นเพียงผู้ดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ”
การจัดการเรียนการสอนภายใต้แนวทางดังกล่าว จึงเป็นที่มาของผลงาน “การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงงานฐานวิจัย”  (Research – Based Project; RBL) คือ ศูนย์รวมของงานปฏิบัติที่นำไปสู่การเรียนรู้บนฐานวิจัย (RBL)  
จิตตปัญญาศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ของครูในการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน จึงถือเป็นด้านหนึ่งของโครงงานฐานวิจัย ความคิดเชิงระบบที่กำกับอีกด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมให้ความคิดเชิงเหตุผลและเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกัน จะช่วยให้ทำวิจัยในโครงงานทะลุถึงความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ดังการหมุนเนื่องที่พัฒนาความคิดให้สูงขึ้นจนถึงบันไดขั้นที่ 7 คือ ความคิดวิพาทย์ ซึ่งเป็นทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 เพราะแสดงให้เห็นว่า สามารถรวบยอดความคิดต่างๆ พร้อมประเมินคุณค่าเชิงเปรียบเทียบได้แล้ว ตามบันได 6 ขั้นแรก คือ Bloom’s Taxonomy of Education Objectives ดังนั้นในฐานะที่เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์จึงคิดหาหนทางว่าทำอย่างไรจึงจะให้นักเรียนใช้กระบวนการเหล่านี้ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง ในปีแรกได้เริ่มทดลองให้นักเรียนทำโครงงานประเภทสำรวจในหน่วยการเรียนรู้ที่เรียน แล้วนำเสนอหน้าชั้นเรียน ปรากฏว่านักเรียนมีความสุขและสนุกมากเพราะได้ออกไปสำรวจข้อมูลในชุมชน ปีต่อมาจึงให้ทำโครงงานประเภททดลองและสิ่งประดิษฐ์ แต่เนื่องจากครูไม่เคยเป็นที่ปรึกษาโครงงานมาก่อนจึงไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ จนเมื่อได้เข้ารับการอบรมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จากหน่วยงานต่างๆ และได้รับทุนในการทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ “โครงการครุวิจัย” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำวิจัย (สกว.) ในปี 2550 ร่วมทั้งได้ศึกษา เข้าชมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จัดในสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จึงสามารถเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนทำงานวิจัยได้ดีขึ้น และผลงานของนักเรียนก็ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการและได้รางวัลจากการประกวดหลายรางวัล เช่น การนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 3 ปี 2553 และ ครั้งที่ 4 ปี 2555 รางวัลเหรียญเงิน โครงงานวิทยาศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเหรียญทองแดง สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555 และที่ภาคภูมิใจยิ่ง คือ ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 4 หัวข้อ นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีกับการประยุกต์ใช้วัสดุนาโน รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ ระดับมัธยมศึกษาเป็นผลงานระดับประเทศที่ได้รับในปี 2556  
ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากนักเรียน เพื่อนครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปกครอง ชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน เสนอความความคิดเห็นในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานฐานวิจัย ทำให้โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้ง”หมู่บ้านจิ้งหรีดนาโน” ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 และโรงเรียนยังได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. และธนาคารกสิกรไทย โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ในการทำงานวิจัยในชุมชน ประเด็นหลัก “การศึกษารูปแบบการเลี้ยงและการพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดในชุมชนตำบลกระแชง” จัดการโรงเรียนให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสู่ชุมชน โดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานอื่นๆที่สนใจได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

ออกแบบและพัฒนาโดย สารสนเทศสำนักบริหารการมัธยมศึกษา SESA 2.0