โลโก้เว็บไซต์ สารสนเทศสำนักบริหารมัธยมศึกษาตอนปลาย
  PDF

ระบบการนิเทศภายใน (คลินิกวิชาการ)

โรงเรียน : สุรินทร์พิทยาคม สพม.สุรินทร์

ระดับ : ระดับเขตพื้นที่ฯ

กลุ่มสาระฯ : อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ : 4 ก.ย. 2561 โดย :   จำนวนผู้เข้าชม 1884 คน


 
             แบบรายงานนวัตกรรม / วิธีการปฏิบัติที่ดี (Best  Practices)

ประเภทของนวัตกรรม /วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ
ชื่อวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best  Practices)  ระบบการนิเทศภายใน  (คลินิกวิชาการ)
โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม                     สหวิทยาเขต 2
ชื่อ –สกุล ผู้บริหารสถานศึกษา               นายทศพร   สระแก้ว
จำนวนครูทั้งหมด   16  คน                 จำนวนนักเรียนทั้งหมด   213  คน
.................................................................................................
1. ความสำคัญของนวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best  Practices) 
           การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ  มีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร  และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนา สร้างสรรค์ และคิดค้นความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวไกล  การจัดการศึกษาของสถานศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์  และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข แต่จากผลการทดสอบโครงการประเมินผลผู้เรียนนานาชาติ หรือ PISA และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในปีการศึกษา 2559 พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยรวม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ได้  34.65 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยรวม 32.53  ซึ่งเห็นได้ว่าผลการทดสอบในแต่ละครั้งจะมีคะแนนโดยเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งของคะแนนเต็ม  สะท้อนให้เห็นคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมว่านักเรียนประสบปัญหาในการนำความรู้ และทักษะในการเรียนรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจริง
          จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนจะต้องได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อช่วยพัฒนาความคิด  พัฒนาการเรียนรู้ให้สูงขึ้น  และเมื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาดังกล่าว  พบว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหานี้มาจากพฤติกรรมของครูผู้สอน เนื่องจากครูจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้นการนิเทศการศึกษาจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพครู ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนด  และการนิเทศภายในก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้ครูสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตนได้ตรงตามสภาพของปัญหา  และความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน  โดยอาศัยความร่วมมือของผู้บริหารโรงเรียนและครู  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  โดยให้โรงเรียนดำเนินการตามแนวทางการนิเทศ  ติดตาม กิจกรรมการนิเทศระดับโรงเรียน เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน และแก้ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน 
          กลุ่มบริหารวิชาการโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว จึงจัดโครงการนิเทศภายใน “คลินิกวิชาการ”ขึ้น  เพื่อพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ในการพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพ มีความรู้ความเข้าใจ และจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีการวิเคราะห์หลักสูตรตามกระบวนการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้  และผลิตสื่อเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้  ตลอดจนการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น  โดยอาศัยความร่วมมือของครูภายในโรงเรียนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แนะนำให้คำปรึกษา  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  และนำผลการนิเทศไปพัฒนา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
          2.1  วัตถุประสงค์
               1) เพื่อให้ครูมีแผนการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์
               2) เพื่อให้ครูจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
               3) เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้
               4) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
          2.2 เป้าหมาย
         เชิงปริมาณ
     1) ครูจำนวน 16 คน มีแผนการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์
     2) ครูจำนวน 16 คน มีการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ      
     3) นักเรียนจำนวน 213 คน มีความสุขต่อบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายของครู
          เชิงคุณภาพ
      1) ครูผู้สอนได้พัฒนาศักยภาพ  ความรู้ความสามารถ  และมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
      2) ครูผู้สอนได้รู้แนวทางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเอง และนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน
      3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกระดับสูงขึ้น
3. ขั้นตอนการดำเนินงาน  
          โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมมีนโยบายเกี่ยวกับการนิเทศภายในสถานศึกษา  เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนทุกด้าน โดยใช้แนวคิดทฤษฎีระบบ และวงจรคุณภาพ (PDCA) โดยครูมีการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตามแผนภาพการดำเนินงานวิธีการปฏิบัติที่ดี  (Best  Practice) ระบบการนิเทศภายใน ของโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม
 
คำอธิบาย: https://scontent.fbkk14-1.fna.fbcdn.net/v/t1.15752-9/s2048x2048/40279317_2073639862702154_4817724271155478528_n.jpg?_nc_cat=0&oh=192e0a5c68b066590019b65aabfff27e&oe=5BFE9C91 คำอธิบาย: https://scontent.fbkk14-1.fna.fbcdn.net/v/t1.15752-9/s2048x2048/40279317_2073639862702154_4817724271155478528_n.jpg?_nc_cat=0&oh=192e0a5c68b066590019b65aabfff27e&oe=5BFE9C91

4
กล่องข้อความ: 4          จากกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ดังกล่าว  โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมจึงดำเนินกิจกรรมการนิเทศภายใน (คลินิกวิชาการ) ตามขั้นตอนการดำเนินงาน  ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมการ (P)  มีกิจกรรม ดังนี้
1. ประชุม วางแผน จัดระบบการนิเทศภายใน
2. แต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศภายใน
3. คณะกรรมการจัดทำเครื่องมือนิเทศภายใน
4. จัดทำโครงการเพื่อขออนุมัติ
ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการ (D) มีกิจกรรม ดังนี้
1. ประชุมชี้แจงความสำคัญ  และแนวทางการนิเทศภายในกับคณะครูและผู้เกี่ยวข้อง
2. สำรวจรายวิชาที่ครูจะรับการนิเทศ
3. กำหนดปฏิทินการนิเทศเยี่ยมชั้นเรียน  
4. ครูส่งแผนการจัดการเรียนรู้
5. ดำเนินการนิเทศตามปฏิทินการนิเทศ
ขั้นที่ 3 ขั้นติดตาม และประเมินผล (C) มีกิจกรรม ดังนี้
1. ประเมินผลความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศ
2. สรุปผลการนิเทศเสนอต่อผู้บริหาร
3. นำผลการนิเทศเป็นข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนต่อไป
ขั้นที่ 4 ขั้นปรับปรุงพัฒนา (A)  มีกิจกรรม ดังนี้
1. นำผลการนิเทศมาปรับปรุงพัฒนา
4. ผลการดำเนินงาน /ประโยชน์ที่ได้รับ
          4.1  ผลที่เกิดกับผู้เรียน
               ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  จากการเตรียมการสอนที่ดีของครู   นำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูที่มีประสิทธิภาพ  มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ทำให้การเรียนรู้เข้าใจเนื้อหาง่ายยิ่งขึ้น นักเรียนสนใจการเรียน  สนุกสนานในการเรียน  ไม่น่าเบื่อ นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากกระบวนการกลุ่ม  ทำให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น  และที่สำคัญที่สุดส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 
          4.2  ผลที่เกิดกับสถานศึกษา
               ผู้บริหารโรงเรียนเป็นบุคคลที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุน  ส่งเสริมให้การนิเทศภายในเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมเห็นความสำคัญของระบบการนิเทศภายใน  โดยการร่วมนิเทศ  ติดตาม  การจัดการเรียนรู้ของครูทุกคนร่วมกับคณะกรรมนิเทศทุกครั้ง  ทำให้ครูและนักเรียนมีการตื่นตัว และครูต้องเตรียมการสอนเป็นอย่างดี  นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  สนุกกับการเรียน ไม่หนีเรียน  ไม่ขาดเรียน มาโรงเรียนแต่เช้า รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน

          4.3  ผลที่เกิดกับชุมชน
               ชุมชนให้ความร่วมมือ  และสนับสนุนกิจกรรมของทางโรงเรียนเป็นอย่างดี  และผลจากการที่ครูได้ออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน  ทำให้ทราบสภาพปัญหาและความลำบากของนักเรียน  โรงเรียนจึงได้หาแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้น  โดยครูทุกคนช่วยบริจาคทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ยากจนและเรียนดี  โดยมอบทุนให้กับนักเรียนในวันแม่ทุกปี  ซึ่งผู้ปกครองและชุมชนเห็นการเสียสละและการเอาใจใส่ของครูที่มีต่อบุตรหลานของท่านเป็นอย่างดี  จึงได้รับความไว้วางใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนมากขึ้นทุกปี
          4.4 ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำนวัตกรรมไปใช้
               จากการที่โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมได้มีการนิเทศภายใน  เพื่อกำกับ  ติดตาม สังเกตการสอนของครู พบว่า  ครูโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมมีรูปแบบวิธีการสอน  เทคนิคการสอนที่หลากหลาย  ทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหาง่ายยิ่งขึ้น นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างมีความสุข และครูทุกคนจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ทำให้การเรียนรู้สนุกสนาน  ไม่น่าเบื่อ ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูแต่ละคนจัดขึ้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้ผู้เรียน  คิดเป็น  ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น  และที่สำคัญส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 
                จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2560 พบว่าคะแนนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์  และวิชาสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ  และคะแนนเฉลี่ยรวม  5  กลุ่มสาระการเรียนรู้  ระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ได้ลำดับที่ 10 จาก 85 โรง  ซึ่งได้ลำดับที่ดีขึ้นจากปีการศึกษา 2559 ได้ลำดับที่ 12

5. ปัจจัยของความสำเร็จ
          การนิเทศภายในโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมที่ประสบความสำเร็จเกิดจากปัจจัย ดังนี้
          1) ปัจจัยด้านบทบาทของหน่วยงานต้นสังกัด
          ความสำเร็จที่ได้จากงานโนบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ที่ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการนิเทศภายในของสถานศึกษาให้ครูผู้รับผิดชอบงานนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ทำให้ทีมนิเทศภายในของโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมได้ความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  เกี่ยวกับกรอบงาน ขอบเขต หลักการของการนิเทศ รวมทั้งกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศในของโรงเรียน การประชุมชี้แจงคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาภายในโรงเรียน ให้รับทราบที่เข้าใจตรงกันในเนื้องานนิเทศภายในอย่างพอสังเขป เพราะจะทำให้ทีมผู้นิเทศตื่นตัวและผู้ที่จะถูกนิเทศการจัดการเรียนการสอนเองได้มีการเตรียมตัวและทุกคนจะทราบบทบาท หน้าที่ของตนเอง และสามารถดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบทบาท หน้าที่  บุคลิกภาพ  และลักษณะการใช้คำพูดของคณะกรรมการนิเทศ  เพื่อให้เป็นกัลยาณมิตรมากที่สุดกับผู้ถูกนิเทศ  จะต้องปฏิบัติตน และวางตัวอย่างไร กับแนวคิดที่ว่า “ชม ก่อน ติ ชี้แนะประเด็นอย่างเข้าใจและเป็นมิตรที่ดี”


          2) ปัจจัยด้านบทบาทของคณะศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
          ทีมศึกษานิเทศจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ได้ออกนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาในวันที่ 4  มิถุนายน 2561 ทีมนิเทศได้ให้ความรู้ ข้อแนะนำเพิ่มเติม และเติมเต็มตั้งแต่กระบวนการดำเนินงานการนิเทศภายใน การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศภายในของโรงเรียน  หัวข้อหรือประเด็นหลักที่จะทำการนิเทศคณะครู ซึ่งจะต้องมีการประชุมชี้แจงให้คณะครูรับทราบถึงหลักการ  วิธีการ  ประเด็นที่จะทำการนิเทศอย่างชัดเจน  เพื่อให้ครูผู้ถูกนิเทศได้มีการเตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อมในด้านการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเองที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ โดยการออกมานิเทศ  ติดตาม ตรวจสอบการบริหารจัดการของทีมนิเทศศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในครั้งนี้  เพิ่มความชัดเจน ในบทบาท หน้าที่ที่คณะกรรมการนิเทศภายในของโรงเรียนต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง  และเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานต่อไป
          3) ปัจจัยด้านบทบาทของคณะนิเทศระดับสหวิทยาเขต 2 สิรินธร
          โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมอยู่ในสหวิทยาเขต 2 โดยโรงเรียนสิรินธรเป็นสถานศึกษาหลักในการขับ เคลื่อนคุณภาพด้านการจัดการศึกษาของสหวิทยาเขต  ที่เน้นการนิเทศ  ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญๆ  และการบริหารจัดการของโรงเรียนอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ  หรือมีแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ซึ่งโรงเรียนสิรินธรถือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่โรงเรียนอื่นๆได้  และประเด็นของการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนในสหวิทยาเขต 2 จึงเน้นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน   ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาภายในสหวิทยาเขต  โดยมติในที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันว่าให้โรงเรียนสิรินธรเป็นหัวหน้าในการขับเคลื่อนการนิเทศระดับสหวิทยาเขต  ซึ่งมีทั้งหมด 10 โรงเรียน  และแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศระดับสหวิทยาเขต  เป็นคณะครูจากโรงเรียนสิรินธร  ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ออกติดตาม  ตรวจสอบ การนิเทศการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  พร้อมทั้งชี้แนะ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานด้านต่างๆ ให้กับโรงเรียนในเครือข่าย เพื่อให้โรงเรียนทั้ง 10 โรงมีองค์ความรู้ หลักการ  แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ซึ่งคณะกรรมการ    การนิเทศติดตามเป็นคณะครูจากโรงเรียนสิรินธรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านการนิเทศ สามารถให้ความรู้ คำแนะนำเพิ่มเติม เพิ่มพูนองค์ความรู้  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านต่างๆในการบริหารและการจัดการของสถานศึกษาที่เป็นระบบ  และสามารถพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
          4) ปัจจัยด้านบทบาทของคณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม
          โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมหลังจากที่ได้รับการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33  และได้รับการนิเทศจากคณะกรรมการนิเทศจากสหวิทยาเขต 2 สิรินธร  ทำให้คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมทุกคนมีความรู้  เข้าใจในหลักการเหตุผล  กรอบงาน บทบาทหน้าที่  วัตถุประสงค์  และกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ทั้งประเด็นหลักและรายละเอียดย่อย ๆ ในแต่ละประเด็น  ทำให้คณะกรรมการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการนิเทศภายในโรงเรียนของตนเอง  และสามารถให้คำแนะนำแก่คณะครูที่รับการนิเทศจนประสบความสำเร็จ และสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คณะครูทุกคน  คือผลการประเมินการนิเทศระดับสหวิทยาเขต  โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ของสหวิทยาเขต 2 สิรินธร 
          5) ปัจจัยด้านบทบาทของครู/นักเรียนโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม
              5.1 ปัจจัยด้านบทบาทของครู
              บทบาทของครูผู้สอนเมื่อมีการนิเทศภายในด้านการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ครูทุกคนมีความพร้อมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  โดยการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้  เพื่อไปสู่เป้าหมายของการจัดการศึกษาตามที่หลักสูตรกำหนดไว้  โดยมีเป้าหมายคือความสำเร็จของผู้เรียน ครูเริ่มคุ้นเคยกับการที่มีการมานิเทศการเรียนการสอน ทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามปกติ  ไม่ตื่นเต้น  จัดการสอนเป็นไปตามลำดับขั้นตอนในแผนการจัดการเรียนรู้  ครูมีการเตรียมการสอนที่ดี  มีสื่อการสอนน่าสนใจ และมีวิธีการสอนที่หลากหลาย  และจัดกิจกรรมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ทำให้การเรียนสนุกสนาน  ไม่น่าเบื่อ  ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละวิชา  มีการวัดผลประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้  เป้าหมาย  ตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้  ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูแต่ละคนจัดขึ้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ครูผู้สอนมีการสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่มีการเรียนรู้ล่าช้า ไม่ทันเพื่อนๆในชั้นเรียน  และที่สำคัญส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 
             5.2 ปัจจัยด้านบทบาทของนักเรียน
             นักเรียนโรงเรียนสุรินทร์พิทยาคมมีความสำคัญต่อการนิเทศการเรียนการสอนของครูเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนิเทศจากภายนอก หรือคณะกรรมการนิเทศภายใน นักเรียนจะมีสัมมาคารวะและเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูเป็นอย่างดี  ดังนั้นเมื่อมีคณะกรรมการมานิเทศการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเอง  นักเรียนจะมีความกระตือรือร้นในการเรียน  นั่งเรียนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  และให้ความร่วมมือกับครูผู้สอนเป็นอย่างดีในการร่วมแสดงความคิดเห็น  และตอบคำถามของครู  ทำให้บรรยากาศดูเป็นกันเอง ไม่เครียด ไม่น่าเบื่อ ทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูเป็นไปตามขั้นตอนการเรียนรู้  นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจในเนื้อหาอย่างแท้จริง  ครูแต่ละคนมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เน้นกระบวนการกลุ่ม  ซึ่งรูปแบบการสอนลักษณะนี้จะทำให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้านความรู้  ความเข้าใจวิธีการหาคำตอบด้วยตนเอง มีการสอบถามหรือสืบค้นข้อสงสัยที่อยากรู้  เพื่อความกระจ่างในเนื้อหาและคำตอบที่ต้องการทำให้เข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวนักเรียนเอง นำไปสู่พัฒนาการด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านสมรรถนะต่างๆที่นักเรียนควรพึงมี  และจากกระบวนการดังกล่าวทำให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
 

ออกแบบและพัฒนาโดย สารสนเทศสำนักบริหารการมัธยมศึกษา SESA 2.0