โลโก้เว็บไซต์ สารสนเทศสำนักบริหารมัธยมศึกษาตอนปลาย
  PDF

การพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

โรงเรียน : วัดสิงห์ สพม.อุทัยธานี ชัยนาท

ระดับ : ระดับจังหวัด

กลุ่มสาระฯ : การงานฯ

เผยแพร่เมื่อ : 29 ม.ค. 2560 โดย : นงลักษณ์ เนี่ยมมา จำนวนผู้เข้าชม 11441 คน


เรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
โรงเรียนวัดสิงห์     อำเภอวัดสิงห์     จังหวัดชัยนาท
ข้อมูลทั่วไป ชื่อผู้เสนอผลงาน   นางสาวทิพย์พวัล  สุขสุด   ตำแหน่ง  ครู  ค.ศ.1
1. ความเป็นมา
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552-2561 โดยมีจุดเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะ ซึ่งทักษะชีวิตเป็นจุดเน้นด้านความสามารถและทักษะที่เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะชีวิต อย่างรอบด้าน เป็นภูมิคุ้มกันพื้นฐานที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในการดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เข้ามามีบทบาททั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไม่เว้นแต่วงการการศึกษาเอง ที่จะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทที่จะเกิดขึ้น
การขับเคลื่อนกลไกทางการศึกษาของประเทศให้พร้อมต่อการแข่งขันเป็นกระบวนการหลักในการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน ทักษะการดำรงชีวิตในสังคมและทักษะอาชีพก็เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญเหล่านั้นที่ทั่วโลก ยกให้เป็นทักษะที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่อาจจะกลายเป็นทักษะที่ผู้ปกครองไทยให้ความสำคัญน้อยกว่าทักษะเชิงวิชาการ นักเรียนไทยจึงขาดทักษะในการนำตัวเองไปในทิศทาง ที่เหมาะสม ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ จึงเป็นการเรียนรู้ที่โรงเรียนต้องจัดให้นักเรียนและครูต้องสอน
            การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการเตรียมการด้านอาชีพ ถือเป็นการวางแผนการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาของโรงเรียนดีประจำตำบลซึ่งสนองนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพและการเป็นโรงเรียนทำมาหากิน  อันจะสะท้อนให้เห็นกระบวนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำมาพัฒนางานอาชีพจนเกิดเป็นผลงาน/ผลิตภัณฑ์/อาชีพได้ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการพัฒนางานที่สนองนโยบายดังกล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง  และมีผลงานที่แสดงให้เห็นกระบวนการหรือวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice) พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยผลการพัฒนางานที่เผยแพร่จะสามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปฏิบัติได้นั้น ต้องได้รับการคัดสรร มีการประเมินคุณภาพของงานและวิธีการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการให้กับโรงเรียน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพและการขับเคลื่อนงานการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  และเผยแพร่ผลงานของโรงเรียนที่เป็นวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในลักษณะของ “การพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’’
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน

2.1 เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน โดยการพัฒนา ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21
2.2 เพื่อปลูกฝังและพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน เพื่อสามารถนำไปปรับ ประยุกต์สู่ชีวิตจริง
2.3 เพื่อส่งเสริมให้ครูจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ ศตวรรษที่ 21 อย่างมีประสิทธิภาพ
          2.4 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของผู้ที่มีส่วนได้เสีย
 
3. วิธีการดำเนินงาน
โรงเรียนมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ข้าพเจ้าจึงได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยส่งเสริมให้ครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยแนวคิดเชิงระบบ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะการทำงาน รู้จักสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ปกครองและชุมชนที่ต้องการให้โรงเรียนพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีปัญญาและมีความสุข ตามขั้นตอนที่แสดงไว้ใน Flow Chart  ของการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษ ที่ 21 ดังต่อไปนี้  
การดำเนินการตามขั้นตอนที่แสดงไว้ใน Flow Chart ข้าพเจ้าได้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ในขั้นตอนการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้และการพัฒนา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวทำให้เกิดนวัตกรรมที่ถือเป็นการปฏิบัติ ที่เป็นเลิศการพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
3.1 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นนวัตกรรมที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ และ การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ในรูปแบบกิจกรรมบูรณาการแบบสอดแทรก แบบคู่ขนานและแบบสหวิทยาการ
3.2 โครงงาน 1 คน 1 อาชีพ เป็นโครงการที่ปฏิบัติตามกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยนักเรียนที่เรียนรายวิชานี้ทุกคนจะต้องปฏิบัติกิจกรรมภาคบังคับ 2 ส่วน ได้แก่ 1. กิจกรรมโครงงานอาชีพ (ปฏิบัติในเวลาเรียน) โดยกำหนดสัดส่วนการประเมินผลคิดเป็นร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ทำโครงงานอาชีพตามกระบวนการเรียนการสอนโครงงานอาชีพ 2. กิจกรรม“โครงการ 1 คน 1 อาชีพ” เป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกำหนดสัดส่วนการประเมินผลคิดเป็นร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม 3. นำผลการประเมินในข้อ 1 และ 2 มารวมกันเพื่อตัดสินผลการเรียน

4. ผลการดำเนินงาน/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
4.1 จากการที่ข้าพเจ้าได้พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพ ทำให้นักเรียน มีคุณลักษณะ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สามารถแก้ปัญหา และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีทักษะกระบวนการคิดมีกระบวนการในการทำงาน มีความสามารถในการเป็นผู้นำและผู้ตาม ในการทำงาน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่โรงเรียนกำหนด ทำให้โรงเรียนผ่านการประเมินและได้รับการรับรองจาก สมศ.รอบสาม
 4.2 ผลการดำเนินงานตามโครงการ 1 คน 1 อาชีพ เกิดผลดีต่อหลายฝ่าย ได้แก่
-ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นวิทยากรท้องถิ่น เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนโดยตรง
-ผู้ปกครองเห็นชอบ สนับสนุน และคอยติดตาม มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียนรู้ของเด็ก
-นักเรียนได้แสวงหาความรู้ในงานอาชีพอิสระที่ตนเองสนใจ โดยศึกษาจากประสบการณ์ตรง
-นักเรียนได้ฝึกกระบวนการทำงาน ฝึกความรับผิดชอบ มีวินัย และฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น สอดคล้องกับมาตรฐาน ในเรื่องนักเรียนมีทักษะในการทำงานฯ มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต

5. ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการการพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพ ของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ข้าพเจ้าซึ่ง มีความตระหนัก เห็นความสำคัญ และ มีความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยภายนอก ที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ ได้แก่
- ผู้บริหาร ซึ่งให้ความสำคัญ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการทุกด้าน กำหนดนโยบายให้มีการจัดการเรียนรู้บูรณาการไว้ชัดเจนและจัดกิจกรรมในการพัฒนาครู และพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาความรู้ความสารถของตนเอง ได้เข้ารับการอบรมสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดประชุมปฏิบัติการทางวิชาการเป็นประจำ ภาคเรียนละไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทำให้ข้าพเจ้ามีการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมพัฒนางานและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การทำงานเป็นระบบยิ่งขึ้น งานทุกงานที่ทำได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนของโรงเรียนจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ทำให้การพัฒนางานทุกๆ ระบบมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย นักเรียนได้รับการพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ อย่างเต็มตามศักยภาพ
- ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานภายนอก ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือโรงเรียนในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดีช่วยเหลือในการระดมทรัพยากรในการจัดการศึกษาให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนในเรื่องแหล่งเรียนรู้ และเป็นวิทยากรในการสอนงานอาชีพให้แก่นักเรียน

6. บทเรียนที่ได้รับ
การพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ และ โครงการ 1 คน 1 อาชีพ ทำให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานจากการเรียนรู้ของตนเองด้วยความภาคภูมิใจ นักเรียนยังได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ผู้ปกครอง ครู ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน จากความพยายามคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอน และการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการนิเทศติดตามอย่างเป็นระบบ การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ส่งผลต่อ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นบทเรียนที่ได้รับ ดังนี้
          - นักเรียนมีความรู้ มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ มีพื้นฐานในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ
          - ครูมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความภาคภูมิใจ และชื่นชมในผลที่เกิดแก่นักเรียน
          - ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

7. การเผยแพร่ / การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ การเผยแพร่
โรงเรียนได้เผยแพร่รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน โดยการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ดังนี้
1. เผยแพร่ผลงานทางเวปไซต์ของโรงเรียน http://th.watsingschool.ac.th/
          2.นักเรียนนำเสนอผลงาน การตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า ในการประเมินรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ปีการศึกษา 2558
3.นักเรียนนำเสนอผลงาน การประดิษฐ์ของใช้จากวัดสุธรรมชาติในท้องถิ่น  การตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า  งานดอกไม้ใบตอง ในงานเปิดโลกวิชาการของโรงเรียนวัดสิงห์ ปี 2559
  4. นักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองอันดับ 4 การแข่งขันประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ระดับ ม.4-6 การแข่งขันทักษะศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 66 ปีการศึกษา 2559
5.นักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันจักสานไม้ไผ่ ระดับ ม.1-3 การแข่งขันทักษะศิลปะหัตกรรมนักเรียน  ปีการศึกษา 2560 ระดับจังหวัด
6. นักเรียนได้รับรางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันจักสานไม้ไผ่ ระดับ ม.1-3 การแข่งขันงานมหกรรมความสามารถทางทักษะศิลปหัตถกรรม  วิชาการและเทคโนโลยี ระดับชาติ ครั้งที่ 68 ปีการศึกษา 2561


 

ออกแบบและพัฒนาโดย สารสนเทศสำนักบริหารการมัธยมศึกษา SESA 2.0