โลโก้เว็บไซต์ สารสนเทศสำนักบริหารมัธยมศึกษาตอนปลาย
  PDF

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแบบครบวงจร สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

โรงเรียน : ท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี สพม.สกลนคร

ระดับ : ระดับชาติ

กลุ่มสาระฯ : การงานฯ

เผยแพร่เมื่อ : 19 ต.ค. 2564 โดย : นายเมฆินทร์ พรมประศรี จำนวนผู้เข้าชม 260 คน


       วิกฤตการณ์ด้านโภชนาการทั่วโลกที่เผชิญก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙  มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ มีผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก เพิ่มขึ้นจาก ๖๑๘ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็น ๗๖๘ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และยังพบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๔  เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก มีความไม่ปลอดภัยด้านอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรง ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (NCDs) เพิ่มขึ้น (globalnutritionreport. ๒๐๒๓. online)  สอดคล้องกับภาวะโภชนาการของเด็กไทยในฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กอ้วนสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓ จากร้อยละ ๑๑.๘, ๑๓.๖ และ ๑๒.๗๘ ตามลำดับ และเด็กเตี้ยสูงกว่าค่าเป้าหมายในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ ๕.๗, ๘.๙ และ ๕.๙ ตามลำดับ (ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. ๒๕๖๓. online)
จากรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ พบว่านักเรียนโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี มีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ โดยมีภาวะเตี้ยร้อยละ ๒.๕๐  มีภาวะผอม ร้อยละ ๓.๗๕  มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน รวมกันร้อยละ ๘.๓๙ ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายของกรมอนามัย สอดคล้องกับข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร  ตามพระราชดำริฯ ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและน่าน (ข้อมูลปีการศึกษา ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔)  พบว่ากลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษามีภาวะเตี้ยร้อยละ ๓.๒๕ มีภาวะผอม ร้อยละ ๓.๒๙ มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ ๘.๘๒  (โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี. ๒๕๖๕. หน้า ๖ - ๘)
      
โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนและสนองต่อวัตถุประสงค์หลักตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๖๐ - ๒๕๖๙) จึงได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแบบครบวงจร สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ นักเรียนมีสุขภาพที่ดี มีโภชนาการสมวัย ได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภายใต้แนวความคิด " ไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง ; No child Left Behind " กล่าวคือ โรงเรียนส่งเสริม ปลูกฝัง อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการ การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ถูกหลักโภชนาการ และการดูแลรักษาสุขภาพให้แก่นักเรียนทุกคน โดยบูรณาการการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ ส่วนนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ โรงเรียนเพิ่มกระบวนการติดตามและเก็บข้อมูล พร้อมอบรมให้ความรู้เป็นระยะ  เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ปกครอง และหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มีพัฒนาการทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย  รวมถึงมีสุขนิสัยที่ดีทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน   เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
          วัตถุประสงค์
          ๑. นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ
          ๒. นักเรียนมีสุขภาพที่ดี มีโภชนาการสมวัย ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ

     เป้าหมายเชิงปริมาณ
          
๑. นักเรียนร้อยละ ๑๐๐ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ
          ๒. นักเรียนร้อยละ ๘๐ มีสุขภาพที่ดี มีโภชนาการสมวัย ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
       นักเรียนมีสุขภาพอนามัยตามเกณฑ์มาตรฐาน มีความรู้เรื่องโภชนาการ มีสุขลักษณะในการเลือกรับประทานอาหารที่ดี  มีมารยาทในการรับประทานอาหารและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

       จากผลการดำเนินโครงการพบว่า
นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าครบ ๕ หมู่ ถูกสุขลักษณะ ถูกหลักโภชนาการ และได้รับประทานอาหารกลางวันครบทุกคน ทุกวัน นักเรียนมีสุขภาพที่ดี มีโภชนาการสมวัย มีน้ำหนัก  ส่วนสูงตามเกณฑ์ มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง 
มีสมาธิในการเรียน กล้าแสดงออก ใฝ่รู้ใฝ่เรียน นักเรียนได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ  และมีความรู้ มีศักยภาพ สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเพิ่มมากขึ้น
 

ออกแบบและพัฒนาโดย สารสนเทศสำนักบริหารการมัธยมศึกษา SESA 2.0